Essential skills ทักษะสำคัญสู่ความสำเร็จ
top of page

Essential skills ทักษะสำคัญสู่ความสำเร็จ

อัปเดตเมื่อ 24 ม.ค. 2566



ในโลกแห่งการทำงาน หากคุณมีเพียง Hard Skills หรือทักษะที่เรียนรู้จากใบปริญญาอย่างเดียวอาจจะ "ไม่เพียงพอ" ให้คุณประสบความสำเร็จได้ในระยะยาว เพราะ เมื่อถึงคราวต้องลงสนามจริง คุณอาจต้องรับมือกับความท้าทายในหลาย ๆ รูปแบบ ทั้งเรื่องงาน เรื่องคน รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของเทรนด์ และทักษะของโลกยุคใหม่ ซึ่งผู้ที่จะอยู่ได้ยาว ๆ อย่างสำนวนที่ว่า Play the long game ก็คือ "ผู้ที่รอบรู้ไปด้วย Essential Skills" ทักษะแห่งพลังที่เกิดจากการเรียนรู้ในระดับพฤติกรรม ที่สามารถพาคุณไปสู่ความสำเร็จได้ไม่ว่าเทรนด์โลกจะเบนเข็มไปทางใดก็ตาม​


​Essential Skills คืออะไร


Essential Skills หรือที่รู้จักกันในชื่อ Power Skills และ Soft Skills คือทักษะทางพฤติกรรม (Behavioural Skills) ที่ได้มาจากประสบการณ์และต้องใช้เวลาเพื่อเรียนรู้ เช่น ความยืดหยุ่นปรับตัวได้ไว การวิเคราะห์แก้ไขปัญหา การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง และกรอบความคิดหรือ Mindset แบบต่าง ๆ ที่จะช่วยให้คุณเติบโตไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง ทั้งในเรื่องการทำงาน และชีวิตส่วนตัว​


​แน่นอนว่า Essential Skills นั้นมีความแตกต่างจาก Hard Skills หรือทักษะทางอาชีพที่ได้มาจากการเรียนรู้ด้านเทคนิค และทฤษฎี เช่น การประดิษฐ์คิดค้น การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี หรือการใช้ซอฟต์แวร์ต่าง ๆ และเมื่อถึงเวลาทำงานจริง คุณจะมีเพียง Hard Skills อย่างเดียวไม่ได้ เพราะหากคุณเชี่ยวชาญในวิชาความรู้แต่ขาดทักษะของการใช้ชีวิต ไม่เปิดใจรับสิ่งใหม่ ก็อาจทำให้มีปัญหาในการปรับตัว ส่งผลกระทบไปถึงขั้นตอนการทำงานที่ติดขัด ความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานที่ไม่ราบรื่น และผลลัพธ์ของงานที่ต่ำกว่ามาตรฐานที่ควรเป็น



Soft Skill คือ ความสามารถของบุคคลที่ไม่เกี่ยวกับความสามารถเชิงเทคนิค แต่จะเกี่ยวกับทักษะด้านอารมณ์ อุปนิสัย ความคิด หรือการจัดการกับปัญหาต่าง ๆ ที่แสดงให้เห็นถึงวุฒิภาวะทางอารมณ์ของแต่ละบุคคล เป็นทักษะที่มีความสัมพันธ์ในด้านของ EQ หรือ ภาวะความฉลาดด้านอารมณ์ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับ IQ หรือ ทักษะความฉลาดด้านวิชาการนั่นเอง

ESSENTIAL SKILLS ทักษะสำคัญสู่ความสำเร็จ



10 ทักษะแห่งอนาคตที่สำคัญ ที่จะช่วยให้คุณประสบความสำเร็จในเส้นทางอาชีพของคุณ



1. ทักษะการสื่อสาร (Communication Skill)

ทักษะการสื่อสาร เป็นทักษะที่ต้องใช้อยู่เสมอ เนื่องจากการทำงานในองค์กรต้องติดต่อกับผู้อื่นตลอดเวลา เช่น หัวหน้า ลูกน้อง ผู้ร่วมงานในทีม ซัพพลายเออร์ รวมถึงติดต่อสื่อสารกับลูกค้าเพื่อเสนอขายสินค้าหรือบริการ


การสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้ข้อมูลถูกต้องชัดเจน ตรงประเด็น ครบถ้วนสมบูรณ์ ไม่ตกหล่น รวมถึงรู้จักเลือกใช้คำพูดให้เหมาะสมกับสถานการณ์


นอกเหนือจากการพูดแล้ว การฟังก็เป็นสิ่งสำคัญในการสร้างทักษะการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ


กล่าวคือ การเป็นผู้ฟังที่ดีจะทำให้เข้าใจสิ่งที่ผู้พูดต้องการอย่างแท้จริง ขณะรับฟัง ไม่ควรรีบด่วนสรุป หรือไม่อดทนฟังจนจบ ทำให้ไม่เข้าถึงความต้องการที่แท้จริงของผู้พูด และเป็นสาเหตุให้เกิดความล้มเหลวในการติดต่อสื่อสาร


2. ทักษะความคิดสร้างสรรค์ (Creative thinking)

ทักษะความคิดสร้างสรรค์ เป็นทักษะที่สร้างแนวคิดใหม่ ๆ พัฒนาวิธีการใหม่ ๆ ที่ช่วยให้การทำงานดีขึ้น ทางเลือกใหม่ในการแก้ปัญหาได้ดีกว่าเดิม


วิธีการที่จะช่วยพัฒนาทักษะนี้ คือ เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อ่านข่าว อ่านหนังสือ อบรมสัมมนาความรู้ใหม่ ๆ ที่ช่วยพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆที่จะช่วยแก้ปัญหาหรือพัฒนาการทำงานของคุณให้ดีขึ้น พูดคุยกับผู้คนต่างๆเพิ่มเกิดไอเดียใหม่ๆ เหล่านี้จะช่วยพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของคุณได้


3. ทักษะการแก้ปัญหาที่ซับซ้อน (Complex Problem Solving)

ทักษะการแก้ปัญหาที่ซับซ้อน จำเป็นต้องอาศัยทักษะหลาย ๆ อย่างประกอบกัน เช่น ความสามารถในการคิดเชิงวิเคราะห์เพื่อให้เข้าใจถึงรากของปัญหา การตั้งคำถาม การหาเหตุผล ประเมินทางเลือกและตัดสินใจ นักแก้ปัญหาที่ดี ไม่เพียงแต่หาทางแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเท่านั้น แต่ยังคาดการถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตและหาทางป้องกันไว้ล่วงหน้าอีกด้วย


4. ทักษะการทำงานเป็นทีม (Teamwork and Collaboration)

การทำงานในองค์กรให้เกิดความสำเร็จต้องอาศัยการร่วมมือกันระหว่างหลาย ๆ ฝ่าย ทักษะการทํางานเป็นทีม (Teamwork) และความร่วมมือกัน (Collaboration) จึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง ทั้งภายในทีมและระหว่างแผนกต่าง ๆ ในองค์กร


ข้อดีของการทำงานเป็นทีม

1. ความรวดเร็วในการทำงาน



  • การทำงานเป็นทีม : หากมีงานหนึ่งงานใดที่เราไม่เคยทำมาก่อน เราสามารถให้คนที่เชี่ยวชาญกว่าทำแทนเราได้ อีกทั้งการทำงานแบบส่งต่อกันเป็นทอด ๆ ยังช่วยให้การทำงานของเรารวดเร็วขึ้น เราเพียงแค่ทำงานส่วนของเราให้ดีที่สุด จากนั้น ให้เพื่อนร่วมงานคนอื่นช่วยทำงานส่วนของเขาต่อ การทำงานก็จะเร็วขึ้นเป็นเท่าตัว

2. ความร่วมมือในการตัดสินใจ

  • การทำงานเป็นทีม : อาจจะเสียเวลาในการรอความคิดเห็นจากคนอื่น แต่ทุกคนในทีมได้มีส่วนร่วม ทำให้เรามั่นใจได้ว่าเราได้ทำตามความคิดเห็นของส่วนรวม ไม่ใช่ความคิดของคนใดคนหนึ่ง หากมีความผิดพลาดเกิดขึ้น เราก็ไม่ต้องมาโทษว่าเป็นความผิดของใคร เพราะทุกคนต้องรับผิดชอบร่วมกัน ทำให้เกิดความผูกพันธ์ในทีมมากขึ้น

3. ทำงานตรงกับความสามารถ

  • การทำงานเป็นทีม : เราสามารถเลือกได้ว่าเราจะทำงานอะไร เพราะทุกคนต้องแบ่งหน้าที่กันให้ชัดเจน หากเราไม่ถนัดที่จะทำงานอีกอย่าง เราสามารถเลือกมาทำงานอีกอย่างได้ เพียงแต่ต้องบอกความจำเป็น และขีดจำกัดของความสามารถของเราให้ทีมได้รับรู้ก่อน การได้ทำงานที่ตรงกับความสามารถ จะช่วยให้เราทำงานออกมาได้ดี

4. ความคิดสร้างสรรค์

  • การทำงานเป็นทีม : การทำงานเป็นทีมทำให้เราได้ความคิดเห็นที่หลากหลาย การที่มีคนหลาย ๆ คนช่วยกันคิด จะทำให้เราได้แนวคิดที่หลากหลาย สามารถนำไปปรับใช้ได้มากขึ้น และทุกคนยังมีส่วนร่วมในการทำงาน ในการออกความคิดเห็นเพื่อค้นหาสิ่งที่ดีที่สุดด้วย


5. การสร้างความสัมพันธ์

  • การทำงานเป็นทีม : เมื่อต้องทำงานเป็นกลุ่ม อาจจะมีบ้างที่ผิดใจกัน หรือทะเลาะเบาะแว้งกัน แต่ท้ายที่สุดแล้ว เราจะกลับมาคุยกันดี ๆ ได้ เพราะความสัมพันธ์ที่มาจากการทำงานเป็นทีม จะช่วยให้เราไม่สามารถโกรธกันได้นาน เพราะเรามีความรับผิดชอบที่มีต่อส่วนรวมร่วมกัน

5. ทักษะการบริหารเวลา (Time management)



เวลา เป็นทรัพยากรที่มีจำกัด ดังนั้น การบริหารเวลาอย่างชาญฉลาดจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน คนที่ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพจะเข้าใจข้อจำกัดของเวลาในงานที่ต้องทำ และสามารถทำงานให้เสร็จลุล่วงภายใต้ข้อจำกัดเหล่านั้น รู้จักวางแผน ควบคุมระยะเวลา และจัดลำดับความสำคัญของงานให้ชัดเจน เพื่อทำให้งานสําเร็จตามเป้าหมายในเวลาที่กำหนด


แต่ปัญหาที่พบเห็นคือ บางคนในองค์กรที่ทำงานเสร็จไม่ทันกำหนดเส้นตายบ่อยๆ ประเมินระยะเวลาที่จะทำงานให้เสร็จผิดพลาด หรือไม่ใส่ใจต่อการบริหารเวลา มีนิสัยผัดวันประกันพรุ่ง ย่อมส่งผลเสียหายอย่างมากต่อทีมหรือองค์กร


ทักษะการบริหารจัดการเวลา ช่วยให้มีความเป็นมืออาชีพ ไม่ว่าจะทำอะไรหรือแม้แต่หน้าที่ความรับผิดชอบประจำวัน หากทำได้อย่างเชี่ยวชาญ รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ นั่นคือ ความเป็นมืออาชีพที่กล่าวถึง แม้จะมีเวลาไม่มากหรือมีงานล้นมือ แต่ถ้าสามารถพัฒนาทักษะการบริหารเวลาจะช่วยให้บรรลุเป้าหมายได้ทันท่วงที ไม่ต้องรู้สึกเครียดกับงานมากเกินไป หรือรู้สึกว่าต้องรับผิดชอบมากเกินไป การจัดการเวลา ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแต่ต้องใช้เวลา ซึ่งแต่ละคนก็จะมีวิธีการของตนเองแตกต่างกันไป




เทคนิคการจัดลำดับความสำคัญของงานที่ทำ


ประเภทที่ 1 : งานเร่งด่วนและสำคัญ (Urgent and Important)“ลงมือทำเลย!”

งานประเภทนี้สำคัญที่สุด เราจึงควรลงมือทำให้ไวที่สุด เนื่องจากเป็นงานที่ส่งผลกับเราโดยตรง เช่นรายงาน การบ้าน หรือการสอบที่กำลังจะมาถึง เป็นสิ่งที่ทำแล้วจะส่งผลต่อคะแนนของเรานั่นเอง


ประเภทที่ 2 : งานไม่เร่งด่วนแต่สำคัญ (Not Urgent / Important)“จัดตารางให้งานเหล่านี้”

งานประเภทนี้ก็สำคัญ แต่ยังไม่เร่งรีบเท่าอันแรก เราจึงควรจัดตารางและตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะทำภายในวันไหน ไม่ใช่แค่ผลัดไปเรื่อยๆ อย่างไร้กำหนด เช่น การสอบปลายภาค หรือการพรีเซนต์งาน เราก็ควแบ่งเวลาในการอ่านหนังสือ หรือเตรียมตัวล่วงหน้าก่อนพรีเซนต์

ประเภทที่ 3 : งานเร่งรีบแต่ไม่สำคัญ (Urgent / Not Important) “มอบหมายให้ผู้อื่นทำ”

งานประเภทนี้ Eisenhower ได้กล่าวไว้ว่า เราควรมอบหมายให้คนอื่นทำแทน แล้วเอาเวลาไปทำงานประเภทแรกให้เสร็จ โดยงานประเภทนี้จะทำให้เราตกหลุมพรางบ่อยที่สุด เพราะเป็นงานง่ายๆ แต่เร่งด่วน เราจึงอยากรีบเคลียร์มันให้เรียบร้อยจนไปกระทบเวลางานสำคัญอื่นๆ เช่น การเตรียมอุปกรณ์ หรือการอัปโหลดไฟล์ข้อมูลต่างๆ เป็นต้น

ประเภทที่ 4 : ไม่เร่งด่วนและไม่สำคัญ (Not Urgent / Not Important)“ลบทิ้ง”

งานประเภทนี้ควรลด หรือเก็บไว้ทำท้ายสุด เพราะเป็นงานที่เสียเวลาและทำให้เราไม่ได้ทำงานอย่างอื่น เช่น การเล่นโซเชียลมีเดีย ตอบไลน์ที่ไม่สำคัญ หรืออะไรก็ตามที่ยังไม่จำเป็นแต่อาจทำให้เสียเวลา

6. ทักษะความสามารถในการปรับตัวและความยืดหยุ่น (Flexibility and Adaptability)

flexibility and adaptability คือ ทักษะหรือความสามารถที่คนจะปรับเปลี่ยนการกระทำ วิธีการที่จะทำสิ่งต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะในยุคที่เทคโนโลยีสามารถทำงานแทนคนได้ คนที่จะรักษาตำแหน่งงานไว้ได้จึงต้องเป็นคนที่สามารถทำงานได้หลากหลาย ปรับตัวได้ดี มีทักษะที่เทคโนโลยีทำแทนไม่ได้หรือทำแทนได้ไม่ค่อยดี ธุรกิจที่มีคนเก่ง มีความสามารถในการปรับตัวดีย่อมสามารถเข้าหาโอกาสทางการตลาดได้ง่าย และรวดเร็วกว่า หากคุณอยากเป็นผู้ที่มีทักษะการปรับตัวได้ดี ต่อไปนี้เป็นเทคนิคที่คุณจะนำไปพัฒนาตัวเองได้

  • หมั่นสังเกตสิ่งต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงรอบตัว เช่น แนวโน้มตลาด การเปลี่ยนแปลงของคู่แข่ง ความพึงพอใจของลูกค้า เทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ส่งผลกระทบกับงานที่ทำ

  • เต็มใจที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่เพื่อปรับตัวเองให้ทันเหตุการณ์อยู่เสมอ เหล่านี้ก็จะช่วยให้คุณพัฒนาทักษะในการปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์ได้

7. ทักษะภาวะผู้นำ (Leadership)


ภาวะผู้นำ : การเป็นผู้นำที่ดีต้องสามารถสื่อสารกับผู้ตาม ให้มองเห็นเป้าหมายเดียวกัน และนำพาไปสู่เป้าหมายได้ มีความรับผิดชอบสูง สามารถเป็นทั้งผู้สอนและพี่เลี้ยง สร้างแรงจูงใจให้ทุกคนเกิดความร่วมมือกัน ทำงานเป็นทีม มีวิสัยทัศน์กว้างไกล รักการเรียนรู้ เปิดใจรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น มีความยุติธรรมไม่เอนเอียงไปทางฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง สามารถสร้างความไว้วางใจให้กับผู้ตามเกิดความเชื่อถือ กล้าทำให้สิ่งที่ถูกต้องเหมาะสม รับความกดดันได้ดี มีสติ ควบคุมอารมณ์ได้ดี มีความสามารถบริหารคนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถือเป็น Soft Skills สำหรับผู้บริหารจำเป็นต้องมี


8. ทักษะทัศนคติเชิงบวก (Positive Attitude)

ทัศนคติเชิงบวก : ทัศนคติของคนเป็นเหมือนพลังขับเคลื่อนชีวิตของคนคนนั้น คนที่มีทัศนคติในแง่บวกกับเรื่องชีวิตหรือการทำงานก็จะนำพาไปสู่ทิศทางในแง่บวก แม้ว่าจะอยู่ท่ามกลางอุปสรรค ปัญหาในชีวิตที่ต้องเจอ การรักษาทัศนคติในแง่บวกจะช่วยเพิ่มพลังให้กับตัวเราและคนรอบข้าง


การคิดเชิงบวก (positive thinking) หมายถึง วิธีที่คนเราใช้ในการมองสถานการณ์ต่าง ๆ และการ

ค้นหาสิ่งดี ๆ ที่มีอยู่ในสถานการณ์นั้น การคิดเชิงบวกจะเกี่ยวข้องกับ เจตคติที่อยู่ภายในจิตใจ (mental attitude) ที่คนเรายอมให้เข้าไป แทรกซึม อยู่ในความคิด คำพูด และจินตนาการต่าง ๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเจริญเติบโต ความก้าวหน้า และความสำเร็จของตนเอง เจตคติจึงเป็นตัวคาดหวังที่ทำให้เกิดสิ่งต่าง ๆ ตามที่ตนต้องการ อย่างเช่น คนที่มีเจตคติในทางบวกจะคาดหวังถึงความสุข ความสนุกสนานรื่นเริง การมีสุขภาพที่ดี รวมทั้งคาดหวังถึงผล


เทคนิคที่ช่วยพัฒนาทัศนคติเชิงบวก


  • ปรับมุมมองในแง่บวกกับทุกเรื่องที่เกิดขึ้น กับเหตุการณ์หรืออุปสรรคในชีวิต เช่น หากมีแผนที่ไปเที่ยวแล้วโครงการถูกล้มเลิก แง่มุมบวกอีกด้าน คือ คุณก็จะมีเวลาเหลือมากขึ้นที่จะไปทำกิจกรรมอื่นๆที่ต้องการได้ หรือถ้าเป็นเรื่องการทำงาน เปลี่ยนการเน้นสิ่งที่ทำผิดพลาดเป็นการได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆจากความผิดพลาดเพื่อที่ป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก

  • ฝึกฝนที่จะใช้คำพูดเชิงบวก ฝึกพูดกับตัวเองในแง่บวกทุกวันจะช่วยเปลี่ยนทัศนคติของคุณได้

  • จดบันทึกเรื่องราวดีๆในแต่ละวัน ไม่ว่าจะเป็นเป้าหมายเล็กๆที่ทำได้สำเร็จแต่ละวัน ย่อมสร้างพลังบวกให้กับตัวเอง

  • หาเพื่อนที่มีทัศนคติเชิงบวก เมื่อคุณแวดล้อมด้วยเพื่อนที่มีทัศนคติเชิงบวก คุณก็จะได้ยินได้ฟังแต่เรื่องที่มีทัศนคติเชิงบวก คำพูดเชิงบวกจะฝังเข้าไปในจิตใต้สำนึกเป็นการเติมพลังให้กับชีวิตคุณ

  • มองวันใหม่เป็นโอกาสใหม่ๆที่คุณจะทำสิ่งต่างๆให้ดีขึ้น การเริ่มต้นวันใหม่หมายถึงโอกาสที่จะได้ทำสิ่งใหม่ ๆ ที่มีคุณค่าให้กับตัวเอง เรียนรู้และพัฒนาให้ดีขึ้น

9. ทักษะความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence)

EQ-ความฉลาดทางอารมณ์ คือ ความสามารถในการรับรู้อารมณ์และความรู้สึกของตนเอง ทั้งสังเกตและเข้าใจอารมณ์ของผู้อื่นด้วย มีความสามารถในการควบคุมอารมณ์และแสดงออกได้อย่างเหมาะสมในแต่ละสถานการณ์ ความฉลาดทางอารมณ์ จึงเป็นทักษะที่สำคัญอย่างมาก เพราะการทำงานในองค์กรล้วนต้องอาศัยการติดต่อประสานงานกับผู้คนจำนวนมาก


EQ (Emotional Quotient) ทักษะที่ผู้นำต้องมี

EQ (Emotional Quotient) ความฉลาดทางอารมณ์ หรืออีกชื่อหนึ่งคือ Emotional Intelligence ถือเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้นำในยุคของการแข่งขัน เพื่อสร้างความโดดเด่น แตกต่าง และเป็นผู้นำในดวงใจของใครหลาย ๆ คน มาดูกันซิว่าทักษะที่จำเป็น สำหรับผู้นำมีอะไรกันบ้าง




1. Self Awareness (รู้จักตนเอง)

“ หากคุณไม่รู้จักตัวคุณเอง คุณจะรู้จักผู้อื่นได้อย่างไร” การเข้าใจตนเอง รู้จุดอ่อน จุดแข็ง คุณจะสามารถ

วางแผนเพื่อแก้ไขจุดอ่อน และ ใช้จุดแข็งที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้


2. Self regulation (ควบคุมตนเองได้)

การไม่ตกเป็นทาสของอารมณ์ ถือเป็นสิ่งที่ควบคุมยากที่สุด คุณอาจเริ่มฝึกฝนจากการคิดอย่างมีสติ และใช้

เหตุผลนำอารมณ์ก่อนเสมอ หากคุณทำได้ จะสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนในทีมได้เป็นอย่างดี


3. Motivation (มีแรงจูงใจ)

การตั้งเป้าหมาย และไม่หยุดที่จะเรียนรู้ เป็นสิ่งที่ผู้นำต้องมี เพื่อไปให้ถึงจุดหมาย ความต้องการประสบ

ความสำเร็จจากภายใน จะทำให้เกิดแรงจูงใจในการทำงาน และพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา


4. Empathy (เห็นอกเห็นใจผู้อื่น)

เอาใจเขามาใส่ใจเรา รับรู้ในความรู้สึกของคนในทีม และสามารถช่วยแบ่งเบา หรือแสดงความเห็นอกเห็นใจ

ได้เป็นอย่างดี พร้อมเปิดใจรับฟังความคิดเห็นเมื่อเกิดปัญหา


5. Social Skill (มีทักษะทางสังคมที่ดี)

การมีมนุษยสัมพันธ์ และมี Connection ดี เป็นการเพิ่มเสน่ห์ให้กับผู้นำ ผู้ที่ใส่ใจ


ประเภทของ EQ

  • การรู้จักตน (Self-Awareness)

เป็นส่วนที่สำคัญที่สุดของ EQ นั่นก็คือ การรู้ว่าตัวเองกำลังรู้สึกอย่างไรอยู่ โกรธ เศร้า ไม่พอใจ หงุดหงิดเพราะตัวเอง หรือคนอื่น รวมไปถึงสิ่งที่แสดงออกมาระหว่างที่เกิดอารมณ์ดังกล่าวอยู่ หากเรารู้สาเหตุที่แน่ชัด ก็จะง่ายต่อการจัดการอารมณ์ได้ดียิ่งขึ้น ส่งผลให้สามารถรับมือได้ และเป็นคนที่มั่นใจในตัวเองนั่นเอง การรู้จักตัวเอง แบ่งเป็นสองด้าน คือการรู้เท่าทันอารมณ์ตัวเอง และความเชื่อมั่นในตัวเอง

  • การกำกับตัวเอง (Self- Regulation)

เรามักสูญเสียการควบคุมตัวเองเมื่อเจอเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจ ซึ่งหากไม่สามารถจัดการในระยะยาวได้ อาจส่งผลต่อการเกิดสารเคมีที่ผิดปกติในสมอง อาทิ โรคซึมเศร้า หรือโรคตื่นตระหนก ดังนั้นหากเรามีการกำกับตัวเองที่ดี ก็จะสามารถควบคุมอารมณ์ได้ ไม่ว่าจะตกอยู่ในสถานการณ์ใดก็ตาม

การกำกับตัวเอง ประกอบไปด้วย การควบคุมอารมณ์ ความไว้วางใจ การปรับตัวในที่ต่างๆ และความยืดหยุ่นที่ไม่ยึดติด

  • การรู้จักสังคม (Social Awareness)

การรู้จักสังคมในที่นี้ คือความสามารถในการอ่านสถานการณ์ของวงสนทนา การรับมือกับคู่สนทนาใหม่ที่อาจเข้า หรือไม่เข้ากับเรา รวมไปถึงการรับฟังอย่างเข้าใจ และรับรู้ถึงวิธีอยู่ในสังคมต่างๆ ได้อย่างกลมกลืน

  • การจัดการความสัมพันธ์ (Relationship Management)

ไม่เพียงแต่ความสัมพันธ์ขนาดเล็กอย่างคนรัก หรือครอบครัวเท่านั้นที่ต้องจัดการ แต่ยังหมายถึงทีมงาน เพื่อนร่วมงาน หรือคนรอบข้างที่เรารู้จัก ด้วยการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ และเป็นแหล่งพลังงานบวก รวมไปถึงสามารถจัดการกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างมีสติและคิดถึงทุกคน



10. ทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking)

การคิดเชิงวิพากษ์ คือ ทักษะการคิดเพื่อตัดสินเรื่องใดเรื่องหนึ่ง โดยไม่จำเป็นต้องเห็นคล้อยตามข้อมูลที่นำเสนอ สามารถโต้แย้งข้ออ้างนั้นเพื่อนำไปสู่การแสวงหาคำตอบที่เหมาะสมกว่าเดิมได้ ประโยชน์ของการคิดเชิงวิพากษ์

  • ช่วยให้เกิดการสังเกต ไม่รีบด่วนสรุปต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รู้จักตั้งคำถามต่อสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยเหตุผล ไม่ถูกหลอกง่าย ๆ

  • ช่วยให้ตัดสินเหตุการณ์ต่างๆด้วยข้อเท็จจริง ไม่ใช่อารมณ์ความรู้สึก หรือความเชื่อที่มีต่อ ๆ กันมา

  • ช่วยให้คิดถี่ถ้วน รอบคอบ

  • ช่วยให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ กล้าคิดในสิ่งใหม่ ๆ ที่แตกต่างจากเดิม


การที่คุณมี Soft Skill ที่ดี ย่อมทำให้คุณได้งานจากบริษัทที่ดียิ่งขึ้น และช่วยให้การทำงานง่ายขึ้นในอนาคต



ดู 18,485 ครั้ง
Featured Posts
Recent Posts
Archive
Search By Tags
Follow Us
  • Facebook
  • ไอคอน YouTube สังคม
bottom of page