top of page

นายจ้างต้องรู้ เลิกจ้างอย่างไร ให้ชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม


สถานการณ์เศรษฐกิจ รวมถึงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด – 19 ที่ส่งผลกระทบให้หลายบริษัทต้องมีการปรับลดจำนวนพนักงานให้เหมาะสมกับการผลิต เพื่อรัดเข็มขัดและตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป เพื่อให้องค์กรสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ บางองค์กรมีโครงการสมัครใจลาออก หรือโครงการเลิกจ้างพนักงานบางส่วนออกไป เมื่อมีการเลิกจ้าง นายจ้าง ผู้บริหาร ฝ่ายบุคคล ไม่ควรละเลยการปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย ให้ครบถ้วน หากละเลย ฝ่าฝืน ไม่ดำเนินการ ดำเนินการไม่ครบถ้วนอาจนำมาซึ่งการกระทำผิดกฎหมาย หรือถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย ค่าเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ตามมาได้



การเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ตาม พรบ. จัดตั้งศาลแรงงานฯ พ.ศ. 2522



ไม่ได้ระบุว่าลักษณะใดเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม เพียงแต่จะเป็นการพิจารณาจากอายุของลูกจ้าง ระยะเวลาการทำงานของลูกจ้างความเดือดร้อนของลูกจ้างเมื่อถูกเลิกจ้าง มูลเหตุแห่งการเลิกจ้าง

และเงินค่าชดเชยที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับ


การเลิกจ้างไม่เป็นธรรม คือ

การเลิกจ้างไม่เป็นธรรม หมายถึง การเลิกจ้างโดยไม่มีเหตุผลที่สมควร ไม่ใช่ความจำเป็นของกิจการ เช่น การเลิกจ้างเพราะเกิดจากความรู้สึกไม่พอใจกันในเรื่องส่วนตัวระหว่างลูกจ้างกับนายจ้าง หรือการจงใจกลั่นแกล้งกันให้เดือดร้อน



กรณีที่ลูกจ้างถูกเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม หรือไม่มีเหตุอันสมควร ลูกจ้างมีสิทธิดังต่อไปนี้ คือ


  1. ค่าชดเชย กรณีเลิกจ้าง สำหรับลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 120 วันขึ้นไป ส่วนจะได้รับในอัตราเท่าไร ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการทำงาน ตามมาตรา 118 ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2562

  2. ค่าชดเชยพิเศษ กรณีนายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการ

  3. ค่าชดเชยพิเศษ กรณีนายจ้างปรับปรุงหน่วยงานโดยนำเครื่องจักรมาแทนกำลังคน

  4. สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ในกรณีที่นายจ้างไม่แจ้งกำหนดให้ทราบล่วงหน้า

  5. ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม


การบอกเลิกสัญญาจ้าง

  • การจ้างมีกำหนดระยะเวลา สัญญาจ้างสิ้นสุดลง เมื่อครบกำหนดระยะเวลาจ้าง โดยนายจ้างและลูกจ้างไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า

  • การจ้างไม่มีกำหนดระยะเวลา ถ้านายจ้างเป็นฝ่ายเลิกจ้างหรือลูกจ้างขอลาออกจากงาน ให้ฝ่ายนั้นบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบอย่างน้อยหนึ่งงวดการจ่ายค่าจ้าง


การเลิกจ้าง คือ การที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไป และไม่จ่ายค่าจ้างให้ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใด


ในกรณีที่นายจ้างบอกเลิกสัญญาจ้าง โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าให้ลูกจ้างทราบ


  • มาตรา 17/1 ในกรณีที่นายจ้างบอกเลิกสัญญาจ้างโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าให้ลูกจ้างทราบ

  • ตามมาตรา 17 วรรคสอง ให้นายจ้างจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างเป็นจำนวนเท่ากับค่าจ้างที่ลูกจ้างควรจะได้รับนับแต่วันที่ให้ลูกจ้างออกจากงานจนถึงวันที่การเลิกสัญญาจ้างมีผล ตามมาตรา 17 วรรคสอง โดยให้จ่ายในวันที่ให้ลูกจ้างออกจากงาน

นายจ้างต้องจ่าย เงินชดเชยเลิกจ้าง

ค่าชดเชยเมื่อเลิกจ้างกรณีทั่วไป (รวมถึงการเลิกจ้าง เพราะสถานการณ์โควิด - 19)



  • หากลูกจ้างทำงานมายังไม่ถึง 120 วัน นายจ้างจะไม่จ่ายค่าชดเชยก็ได้

  • หากลูกจ้างทำงานมาแล้ว 120 วัน - 1 ปี นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างการทำงาน 30 วัน ในอัตราสุดท้าย

  • หากลูกจ้างทำงานมาแล้ว 1 - 3 ปี นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างการทำงาน 90 วัน ในอัตราสุดท้าย

  • หากลูกจ้างทำงานมาแล้ว 3 - 6 ปี นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างการทำงาน 180 วัน ในอัตราสุดท้าย

  • หากลูกจ้างทำงานมาแล้ว 6 - 10 ปี นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างการทำงาน 240 วัน ในอัตราสุดท้าย

  • หากลูกจ้างทำงานมาแล้ว 10 - 20 ปี นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างการทำงาน 300 วัน ในอัตราสุดท้าย

  • หากลูกจ้างทำงานมาแล้ว 20 ปีขึ้นไป นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างการทำงาน 400 วัน ในอัตราสุดท้าย



ห้ามเลิกจ้างหญิงตั้งท้อง

ห้ามเลิกจ้างหญิงตั้งท้อง หากคุณแม่ที่กำลังตั้งท้องโดนบริษัทเลิกจ้างโดยไม่ได้กระทำความผิดใดๆ นายจ้างจะมีความผิดทางอาญา ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ไม่นับรวมการเลิกจ้างด้วยเหตุผลอื่น เช่น การทุจริตต่อหน้าที่ หรือขาดงานติดต่อกันมากกว่าสามวัน ในกรณีนี้สามารถเลิกจ้างได้โดยนายจ้างไม่มีความผิด



นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้าง ในกรณีใดกรณีหนึ่ง ดังต่อไปนี้


  1. ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง

  2. จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย

  3. ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง

  4. ฝ่าฝืนระเบียบการทำงานโดยนายจ้างได้ออกหนังสือเตือนไปแล้ว

  5. ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันทำงานติดต่อกัน ไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตาม โดยไม่มีเหตุอันสมควร

  6. ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก



กรณีที่ลูกจ้างถูกเลิกจ้างชนิดถูก "ลอยแพ" โดยไม่ได้รับค่าชดเชย และไม่ได้รับการดูแลใดๆ มีกฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้องและคุ้มครองสิทธิของลูกจ้างให้เรียกร้องเอาค่าชดเชยจากนายจ้างได้ ดังนี้



1. ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน

ทั้งในกรณีที่ถูกเลิกจ้าง และในกรณีที่นายจ้างฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน เช่น จ่ายค่าจ้างไม่ถูกต้อง ไม่จ่ายค่าทำงานล่วงเวลา หรือจ่ายค่าทำงานในวันหยุดไม่ครบ เป็นต้น และลูกจ้างที่มีความประสงค์ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน มีสิทธิยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน โดยไปติดต่อได้ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน

เมื่อยื่นคำร้องแล้วพนักงานตรวจแรงงาน ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐจะเข้ามาสอบสวนข้อเท็จจริง หากเห็นว่า ลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินอย่างหนึ่งอย่างใดที่นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายตามกฎหมาย พนักงานตรวจแรงงานก็จะออกคำสั่งให้นายจ้างจ่ายเงินดังกล่าวให้แก่ลูกจ้างให้ครบถ้วน ซึ่งอาจจะจ่ายกันโดยตรงหรือจ่ายให้กับพนักงานตรวจแรงงานเป็นตัวกลางในการรับเงินและนำไปมอบให้ลูกจ้างก็ได้ ถ้าหากลูกจ้างหรือนายจ้างไม่พอใจกับคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน ก็ยังสามารถนำคดีไปฟ้องต่อศาลแรงงานได้ต่อไป

2. ยื่นฟ้องคดีต่อศาลแรงงานโดยตรง

ศาลแรงงาน เป็นศาลที่จัดตั้งขึ้นเป็นพิเศษเพื่อพิจารณาคดีเกี่ยวกับข้อพิพาทระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง รวมถึง คดีความที่ลูกจ้างไม่ได้รับค่าจ้าง หรือค่าชดเชยในการเลิกจ้างด้วย ตามมาตรา 8 แห่ง พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจาณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 (พ.ร.บ.ศาลแรงงานฯ) ซึ่งศาลนี้ออกแบบกระบวนการพิจารณาคดีมาให้สะดวกสำหรับลูกจ้างซึ่งอาจจะมีสถานะทางเศรษฐกิจที่เสียเปรียบ

ทั้งสองวิธีลูกจ้างสามารถทำได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องใช้ทนายความ และไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ

เอกสารสำคัญที่ควรจะเตรียมในการยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน และศาลแรงงาน

  • กรอกแบบฟอร์ม คร.7 โดยรับแบบฟอร์มได้ที่สำนักงานฯ *ใช้กรณียื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน

  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของลูกจ้างผู้ร้อง

  • ชื่อนายจ้าง/สถานประกอบกิจการ

  • สถานที่ตั้งของที่ทำงานอย่างชัดเจน และหมายเลขเบอร์โทรศัพท์

  • วันที่ เดือน ปี พ.ศ. ที่เริ่มทำงาน และวันที่ทำงานวันสุดท้าย รวมถึงรายละเอียดสภาพการจ้าง สภาพการทำงาน

  • พฤติกรรมที่นายจ้างทำไม่ถูกต้องตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานต่อลูกจ้าง

  • อธิบายข้อเท็จจริงตามเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น

  • พยานเอกสาร พยานวัตถุ พยานบุคคล ที่เกี่ยวข้อง (ถ้ามี)



อ้างอิง:

ดู 21,894 ครั้ง

Commentaires


Featured Posts
Recent Posts
Archive
Search By Tags
Follow Us
  • Facebook
  • ไอคอน YouTube สังคม
bottom of page