นายจ้างสามารถลงโทษพักงานลูกจ้างที่ฝ่าฝืนวินัยฯ ได้
นายจ้างสามารถลงโทษพักงานลูกจ้างที่ฝ่าฝืนวินัยฯ ได้ และการไม่ระบุระเวลาสั่งพักงานไว้ถือว่าไม่ขัดต่อพรบ.คุ้มครองแรงงาน 2541

คำถาม ?
ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของบริษัทกำหนดว่า นายจ้างสามารถลงโทษพักงานลูกจ้างที่ฝ่าฝืนวินัยของบริษัทฯ ได้ แต่ไม่ได้ระบุระยะเวลาในการสั่งพักงานไว้จะถือว่าขัดต่อพระราชบัญญัติ
คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ หรือไม่ ?
คำตอบ
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๐๘ กำหนดว่า ให้นายจ้างซึ่งมีลูกจ้าง
รวมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป จัดให้มีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเป็นภาษาไทย และข้อบังคับนั้นอย่างน้อยต้องมี รายละเอียดเกี่ยวกับรายการดังต่อไปนี้
รายละเอียดข้อบังคับการทำงาน
(๑) วันทำงาน เวลาทำงานปกติ และเวลาพัก
(๒) วันหยุด และหลักเกณฑ์การหยุด
(๓) หลักเกณฑ์การทำงานล่วงเวลาและการทำงานในวันหยุด
(๔) วัน และสถานที่ จ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด
(๕) วัน และหลักเกณฑ์การลา
(๖) วินัย และโทษทางวินัย
(๗) การร้องทุกข์
(๘) การเลิกจ้าง ค่าชดเชย และค่าชดเชยพิเศษ
การจัดทำข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานต้องมีรายละเอียดตามที่กฎหมายกำหนด
เมื่อพิจารณาตามบทบัญญัติดังกล่าว ที่กำหนดให้ การจัดทำข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ต้องมีรายละเอียดตามที่กฎหมายกำหนด โดยต้องกำหนดเรื่องวินัย และโทษทางวินัย ไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานด้วย แต่กฎหมายมิได้กำหนดว่า โทษทางวินัย จะต้องมีรายละเอียดอย่างไรบ้าง การกำหนดรายละเอียด เรื่องโทษทางวินัย จึงเป็นไปตามที่กำหนดไว้ ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน และกฎหมายก็ไม่ได้กำหนดว่า การสั่งพักงานเพื่อการลงโทษ จะต้องกำหนดระยะเวลา ที่สั่งพักงานด้วย เหมือนกรณี การสั่งพักงาน เพื่อการสอบสวนแต่อย่างใด เมื่อกฎหมายไม่ได้กำหนดระยะเวลาการพักงาน เพื่อการลงโทษว่าจะต้องมีระยะเวลาเท่าใด การที่ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้างกำหนดว่า ลูกจ้างที่ฝ่าฝืนวินัยของบริษัท จะต้องได้รับโทษโดยให้พักงานซึ่งไม่ได้กำหนดระยะเวลาการสั่งพักงานไว้ จึงไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๐๘
การไม่ได้กำหนดระยะเวลาการสั่งพักงานไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานจะไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑
อย่างไรก็ตาม แม้การไม่ได้กำหนดระยะเวลา การสั่งพักงานไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน จะไม่ขัดต่อ พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๘ ก็ตาม แต่กรณีดังกล่าวอาจเข้าข่ายเป็นกรณี ที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงาน และไม่จ่ายค่าจ้าง ซึ่งอาจเป็นการเลิกจ้างตามมาตรา ๑๑๘ วรรคสามแห่ง พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑
นายจ้างจึงควรกำหนดระยะเวลา เกี่ยวกับการสั่งพักงาน
ดังนั้น นายจ้างจึงควรกำหนดระยะเวลา เกี่ยวกับการสั่งพักงาน เพื่อการลงโทษไว้ ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน เพื่อให้เกิดความเหมาะสม ในการบังคับใช้โทษทางวินัยดังกล่าวด้วย
อ้างอิง ข้อหารือกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ที่ รง ๑๕.๔/๐๐๒๑๐๖ ลงวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๓